โครงการเสวนาสังสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย “EHIA
เขื่อนแม่วงก์: ซับซ้อนซ่อนเงื่อน...ดราม่า”
(No Mae Wong Dam:
EHIA damah…damah), มหาวิทยาลัยรังสิต, ๒๐ กย ๒๕๕๖
ดำเนินรายการโดย ดร.เจริญวิชญ์ หาญแก้ว
(อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มรส)
บทเรียนจากนโยบายลงทุนเขื่อนที่ผิดพลาด
คุณอานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์
(ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายพัฒนาสังคม, มรส) กล่าวถึงบทเรียนจากการสร้างเขื่อนที่ผิดพลาดในช่วง
๒๔ ปีที่ผ่านมา ในปี ๒๕๓๒ ครม สัญจรได้อนุมัติให้เดินหน้าโครงการโขง-ชี-มูน
ผลคือ หลายเขื่อนที่สร้างขึ้น ใช้การไม่ได้ จน รมต สิ่งแวดล้อม (ดร.อาทิตย์
อุไรรัตน์, ปี ๒๕๔๓) ต้องสั่งยกเลิกการใช้เขื่อนราศีไศล
บทเรียนราคาแพง คือ การสร้างเขื่อนมีแนวโน้มไม่คุ้มงบสร้างและไม่คุ้มต้นทุนที่สูญไปกับป่าธรรมชาติที่อุดมไปด้วยหลากพันธุ์พืชสัตว์[1] เขื่อนดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง
น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่นักการเมืองสัญญาหาเสียง แถมยังเปลืองงบประมาณในการปลูกป่า
(โตเร็วแต่ไม่ธรรมชาติ ไม่ยั่งยืน) และช่วยเหลือฟื้นฟูพันธุ์สัตว์พืช ในขณะที่ชาวบ้านที่ถูกทับที่และถูกเบียดขับออกจากแหล่งทำกินดั้งเดิมของตนอีกจำนวนมาก
ก็ยังคงเดือดร้อนจวบจนทุกวันนี้ (เช่น ชุมชนลุ่มน้ำมูน) การพลีชีพของ สืบ นาคะเสถียร
ในเช้ามืดของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ เป็นจุดเริ่มต้นให้ชะลอความรีบเร่งทำลายป่าธรรมชาติ
นั่นคือ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ก่อนที่ ครม จะอนุมัติให้สร้างในขั้นสุดท้าย ปัจจุบัน การศึกษาผลกระทบต้องคำนึงถึงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย
เรียกว่า EHIA, Environmental and Health Impact Assessment
แต่ EHIA กลับถูกบิดเบือนให้เป็นตรายางรับรองการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของนักการเมือง
และ “ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง” โดยอ้างว่า เพื่อพัฒนาประเทศ (การขยายตัวทางเศรษฐกิจ/จีดีพี)
แทนที่จะยึดผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศเป็นตัวตั้ง
ป่าแม่วงก์ และป่าห้วยขาแข้ง
ถูกรวมอยู่ในโครงการสร้างเขื่อนที่ ครม สัญจร ได้อนุมัติในปี ๒๕๓๒ ด้วย เมื่อผลการศึกษา EIA ของทั้งสองพื้นที่ ในปี ๒๕๓๗ สรุปว่า “ไม่คุ้มทุน” โครงการฯ จึงชะงัก แต่ไม่มีการแก้ไขหรือถอนพื้นที่ทั้งสองออกจากตัวโครงการ รัฐบาลในปี
๒๕๔๓ ได้ปัดฝุ่นโครงการฯ เปิดรับฟังประชาพิจารณ์
เนื่องจากประชาชน/ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดของภาพรวมเชิงนิเวศและข้อดีข้อเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เมื่อมีเพียงสัญญาว่าจะแก้ปัญหาปากท้อง—น้ำแล้งและน้ำท่วม—ในระดับท้องที่[2] ชาวบ้านย่อมแตกออกเป็นสองฝ่าย
คือ ฝ่ายได้ และ ฝ่ายเสีย
ถึงอย่างไร รายงาน EHIA ก่อนน้ำท่วม ๒๕๕๔ มีความขัดแย้งกันในตัวมาตลอด รัฐบาล/ข้าราชการผู้ใหญ่ไม่มีข้ออ้างหรือความชอบธรรมพอที่จะอนุมัติให้สร้างเขื่อนได้
พอเกิดวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันล้มเหลวในการแก้ปัญหา กลับ
“ใช้วิกฤตเป็นโอกาส” คือ ประกาศว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ด้วยการรวบรวมโครงการกระเส็นกระสายที่ไม่ผ่าน
หรือยังไม่ได้ทำ EHIA มารวมกัน กลายเป็นแผนป้องกันน้ำท่วม
๓.๕ แสนล้านบาท แล้วมอบหมายให้จัดทำ EHIA ตามหลัง
ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่รัฐบาลถือว่าเป็นส่วนประกอบในการของบประมาณต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่
๒๓ กย (ที่จะถึง) นี้ และเป็นฉบับที่
แม่วงก์ยาตรา นำโดย อ. ศศิน เฉลิมลาภ (เลขานุการ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร) ออกเดินรณรงค์เชิญชวนให้ประชาสังคมร่วมคัดค้าน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กย จากแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ
คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ
(ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ-ประเทศไทย)
เล่าถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการทำประชาพิจารณ์และพิจารณาโครงการเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่ ไม่เพียงไม่ได้ให้ข้อมูลทุกด้าน
ยังมีการข่มขู่ ใส่ร้ายป้ายสี
ส่วนในที่ประชุมคณะกรรมการ ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจทำตัวเสมือน
“ได้สาบานกับนายไว้แล้ว” เช่น คนหนึ่งกล่าวว่า จะทำให้โครงการนี้ผ่านได้ในหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเกษียณอายุ
คือสิ้นเดือนกันยายน
นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นแรงจูงใจของการดันทุรังสร้างเขื่อนแม่วงก์ คือ
งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ๓ เท่าตัวจากที่ประเมินครั้งแรก จึงดูเหมือนว่า
รัฐบาล/นักการเมือง คงได้ “ตังค์ทอนเพิ่มขึ้น” หากโครงการนี้ผ่าน
คุณเพชร
มโนปวิตร (ผอ. ฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)
ประเทศไทย) ตอกย้ำความไม่น่าเชื่อถือของรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์ว่า มีปัญหาในด้านวิธีเก็บข้อมูล (ข้อมูลไม่ครบถ้วน) คือ
ใช้เวลาเพียง ๑ วันครึ่งในป่า แล้วสรุปว่าแม่วงก์ไม่ได้เป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ เขาแสดงภาพของเสือโคร่งและแนวโน้มของการขยายพันธุ์
ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพพิเศษและรอคอยเป็นเวลานาน การมีเสือโคร่งเพิ่มขึ้น เป็นดัชนีชี้ให้เห็นว่า
แม่วงก์ฟื้นคืนความเป็นป่าธรรมชาติ
หลังจากมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์สัตว์และพืชอย่างจริงจังกว่า ๒๐ ปี ทั้งๆ ที่เคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเพราะถูกสัมปทานไม้ก่อนหน้านั้น การอนุรักษ์สัตว์ป่า มักถูกฝ่ายตรงข้ามตำหนิว่า
ไม่เห็นใจแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เพชร
กล่าวว่า ทุกวันนี้ ป่าธรรมชาติที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เช่นป่าแม่วงก์มีเหลืออยู่น้อยมากในประเทศไทย
การฟื้นฟูและอนุรักษ์จึงสำคัญมาก
ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้มีฐานทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหากินของชาวบ้าน
นโยบายของรัฐควรเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม
ไม่ใช่ทำผิดซ้ำเช่นในกรณีเขื่อนเชี่ยวหลาน
ในภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงรุนแรงปัจจุบัน การสร้างเขื่อนเป็นการก้าวถอยหลัง ในสหรัฐฯ
มีการทุบเขื่อนเพื่อรื้อฟื้นระบบนิเวศ
แต่ไทยกลับดันทุรัง เพียงเพราะผลประโยชน์ระยะสั้นใกล้ตัว และใช้วิธีหลอกล่อ
และทำให้ประชาชนแตกแยกตีกันเอง
ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต
(อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม, มรส) เปิดโปงเล่ห์กลของรัฐบาล ที่รวบโครงการน้ำต่างๆ
ตั้งชื่อเก๋ๆ เป็น Module A1, 2, 3, 4 และ B1,
2, 3, 4 กลายเป็นทั้งหมดมีมูลค่ารวม ๓.๕ แสนล้านบาท ซึ่งได้เปิดตัวที่
Siam Discovery เมื่อไม่นานมานี้ แถมมีป้ายอ้างว่าผ่าน EHIA
แล้ว สมิทธ์ เล่าว่า ตนทำตัวเหมือนนักศึกษาไปชมงาน
บรรยากาศของนิทรรศการว่ามีคนเดินดูสัก ๕
คน แต่มีคน present ถึง ๑๐ คน เขาอธิบายความหมายของ “โมดูล”
ตามความเห็นของรัฐบาลว่า คือ เค้ก ที่แบ่งเป็นชิ้นๆ
ซึ่งจะทำให้ป่าตะวันตกทั้งหมดบาดเจ็บเป็น “แผลเน่าพุพองอย่างทั่วถึง” เพราะไม่เพียงสัตว์ไม่เชื่อฟังเส้นแบ่งเขตของโมดูลแล้ว บางโมดูลก็ทับที่กันเอง เช่น Module A5 ซึ่งเป็นโครงการสร้างแม่น้ำผันน้ำ ขนาดกว้างเท่าแม่น้ำเจ้าพระยา
ให้ผันน้ำจากแม่ปิงสู่แม่กลอง ทับซ้อนกับโครงการเขื่อนแม่วงก์
สมิทธ์ วิจารณ์ความอึมครึมของ EHIA
ฉบับนี้ และปัญหาในกระบวนการอนุมัติเขื่อนแม่วงก์ ในขั้นต้นน้ำ มันไม่มีข้อมูลทั้งหมด
เลือกแต่ที่ต้องการสร้างภาพบวก
ในขั้นกลางน้ำ ภูมิศาสตร์ของผืนป่าแม่วงก์ อยู่ในที่อับฝน
หากสร้างเขื่อนก็เก็บน้ำได้ไม่มาก ไม่สามารถเป็นแหล่งชลประทานของบริเวณที่นา ๓
แสนไร่ตามลมปากของรัฐบาล (อาจได้เพียง ๑/๓) ในทางตรงข้าม ไม่มีเขื่อน น้ำจากป่าแม่วงก์คิดเป็นเพียง
๑ เปอร์เซ็นต์ของน้ำในเจ้าพระยา แม่วงก์ไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อน้ำท่วมในกรุงเทพฯ
เลย ในขั้นปลายน้ำ สมิทธ์พูดถึงชนชั้นกลางในเมือง
ว่าเป็น “ไทยเฉย” หรือ “ไทยก้มหน้า” ที่ไม่ค่อยรับรู้เรื่องได้-เสียระดับชาติ
ซึ่งคงเพราะสื่อกระแสหลักละเลยการนำเสนอเรื่องนี้ด้วย
คุณตะวันฉาย พงษ์วิลัย (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร,
คณะแม่วงก์ยาตรา) เล่าประสบการณ์เมื่อคณะแม่วงก์ยาตราเริ่มออกเดินเท้าในวันที่ ๑๐
กย ส่วนใหญ่ชาวบ้านต้อนรับด้วยดีและบอกว่า “ไม่เห็นด้วยกับเขื่อนแม้ว่าจะอยากได้น้ำ”
เขาเล่าเหตุการณ์ตึงเครียดเมื่อถึงลาดยาว ที่ตอนแรกคณะไม่แน่ใจว่าควรเข้าไปไหม
เพราะได้ยินเสียงกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านประกาศผ่านวิทยุชุมชน “ให้ไล่คนพวกนี้เพราะขัดขวางการสร้างเขื่อน” แต่เพราะใกล้ค่ำ
จึงทำใจดีสู้เสือเดินเข้าหมู่บ้าน ได้พบชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรออยู่ ต้อนรับขับสู้ให้อาหารน้ำท่าด้วยดี พอเดินหาวัดขอนอน ปรากฏว่าวัดต่างๆ ถูกบล็อกไม่ให้เข้าไป
และเจ้าอาวาสก็ไม่กล้าให้พัก ยกเว้นวัดหนึ่ง
เจ้าอาวาสเข้มแข็งตอกกลับคนที่กล่าวห้ามว่า “ถ้าโยมกลัว โยมก็อยู่นอกวัด
ไม่ต้องเข้ามาในวัด” รุ่งเช้า มีชาวบ้านเดินไล่หลังคณะยาตราเมื่อพ้นหมู่บ้าน
นำข้าวของมาให้ บอกว่า “ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวถูกคุกคามจากอิทธิพลในพื้นที่”
เช่น นายอเภอ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นสภาพของชาวบ้านหลายตำบล
หมู่บ้าน ที่ถูกอิทธิพลครอบงำ ไม่ได้มีอิสรเสรีแท้จริง
คุณจิตกร บุษบา แนะว่า เวลาที่เหลือ ๒
วัน จะเป็นเวลาที่คณะยาตรา ควรใช้สื่ออย่างฉลาด เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้กระเทือนต่อมรับรู้ของ
“ไทยเฉย” ได้ การเดินรณรงค์คัดค้านไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ครั้งนี้
อาจทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนแบบประชาธิปไตย ตอนนี้ก็มีกระแสพยายามเปิดเผยข้อมูลรอบด้าน
ที่ฟังและเข้าใจง่าย ด้วยช่องทางต่างๆ รวมทั้ง social media ทำให้คนตื่นตัว และหลายคนรอคอยจะได้ถ่ายรูปกับคณะยาตราอยู่แล้ว นี่น่าจะเป็นกระแสสังคมที่จะนำไปสู่ธรรมาภิบาลของรัฐบาล
หากภาคประชาสังคมตื่นตัว เอาธุระตรวจสอบ ไม่ยอมให้มีการทำ mega projects ที่ปกปิด บิดเบือน และ ฉ้อฉลอีกต่อไป
เก็บตก—ดรุณี
ตันติวิรมานนท์
[1]
ประสบการณ์ตรงของสืบ นาคะเสถียร ในขณะดำรงตำแหน่ง หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม
อันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี
2529 ที่แม้จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้ทั้งสิ้น
1,364 ตัว
แต่ก็เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกเป็นจำนวนมากที่จมน้ำตาย
หรือติดอยู่ตามเกาะจนอดอาหารตาย
และสัตว์อีกจำนวนหนึ่งที่ต้องตายระหว่างการรักษาพยาบาล ทำให้เขามุ่งมั่นทุ่มเทพลังกายและใจ
ร่วมรณรงค์คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปี ๒๕๓๐ จนสำเร็จ
สร้างผลงานทางวิชาการเพื่อสร้างความตื่นตัว
ให้ตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของป่าธรรมชาติ
และเพื่อยกระดับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้งให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก
http://travel.sanook.com/576281/ชีวประวัติ-สืบ-นาคะเสถียร, http://www.greenworld.or.th/library/environment-popular/141,
http://th.wikipedia.org/wiki/สืบ_นาคะเสถียร,
[2]
แท้จริง เป็นเพียงเศษเสี้ยวของงบแผ่นดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปฐมภูมิ
ให้รองรับอุตสาหกรรมและวิถีเมืองซึ่งพึ่งการลงทุนมหาศาลจากต่างประเทศ
ผ่านบรรษัทข้ามชาติ หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น