วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

284. สู่ความตื่นรู้ เท่าทัน และ ลงมือทำของผู้บริโภคสีเขียว: เวทีสานเสวนา

284. Towards Aware, Responsive and Active Green Consumers: A Public Dialogue

Reflection on a dialogue forum on “Green Consumer Act”, a part of the Project on “Building A Green Consumer Society” under Suan Ngern Mee Ma (a publishing social enterprise in Bangkok).  The forum was held at ThaiPBS, on Sat. August 24, 2013, 9:30-16:00.


เก็บตกจากวงสานเสวนา “Green Consumer Act” ๒๔ สค ๒๕๕๖
-ดรุณี ตันติวิรมานนท์

การประชุมสานเสวนา “Green Consumer Act” เป็นหนึ่งใน โครงการ การสร้างสังคมผู้บริโภคสีเขียว  (www.thaigreenmarket.com;   facebook:  อาสาสมัครผู้บริโภคหัวใจสีเขียว Green Volunteer)  เป้าประสงค์ของกิจกรรมครั้งนี้ คือ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทันที่มาที่ไปของอาหารในยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน และ ทำให้เกิดแกนนำผู้บริโภคขับเคลื่อนกระบวนการร่วมสร้างแหล่งอาหารอินทรีย์กับเกษตรกรผู้ผลิต

ช่วงเช้า ผู้จัดเสนอข้อมูล

เริ่มด้วยการนำเสนอวีดีโอ แอนนิเมชั่น “อลหม่านการกิน”  ที่ชำแหละ ข้าวกระเพาไก่ไข่ดาวธรรมดาๆ  ทำให้ประจักษ์ถึงที่มาของไก่   ใบกระเพา  ข้าว  น้ำมัน ที่ได้สูญเสียคุณค่าและความเป็นธรรมชาติด้วยกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมเกษตร  กลายเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย  ที่คนเมืองมนุษย์เงินเดือนกินประหนึ่งไม่มีทางเลือก (แม้จะมีเมนูหลากหลาย รสชาดพิสดาร แต่ก็จำกัดชนิดและคุณภาพของวัสดุ) 

ตามด้วยละครสะท้อนปัญหาของระบอบอาหาร “เรื่องกินเรื่องใหญ่” โดยกลุ่มมะขามป้อม (เพียง ๓ คน!) ซึ่งเป็นใช้ศิลปะการแสดงปลุกให้ผู้เข้าร่วมตื่นตัว ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของ “ระบอบอาหาร” ซึ่งมีทั้งบรรษัท และ นโยบายรัฐ ที่เย้ายวนให้ชาวไร่ชาวนาตกหล่มแบบถอนตัวจากเกษตรเคมีสังเคราะห์ได้ยาก  และปิดหูปิดตาสร้างความไม่ปลอดภัยทางอาหาร...ซึ่งเป็นที่มาของพิษภัยน่ากลัวในอาหารสะดวกซื้อในเมือง  (“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”...แต่กลายเป็นว่า ข้าวปลาที่ซื้อหาได้ ก็กลายเป็นของมายาเสียแล้ว)

จากนั้นจึงเป็นวงเสวนา  “อลหม่านการกิน”  ๔ คน โดยมีคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล (ผู้ดำเนินรายการ “เช้าทันโลก” FM96.5)เป็นผู้ชวนคุย  

วิทยากรสองคนแรก  เป็น หนุ่มสาวมนุษย์เงินเดือนเต็มตัว  แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว “เหตุใดจึงหันไปปลูกผักในเมือง
๑.     คุณแอม-ธนิสรา แก้วอินทร์   ครูบัลเล่ต์สาวที่ประสบความสำเร็จ  (FB: Tanisara Kaewin) วันหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นโรคภูมิแพ้ผื่นเต็มตัว ยาแก้แพ้สเตอรอยด์ กลับทำให้อาการแย่ลงในระยะยาว  ภายหลังจึงเข้าใจสาเหตุว่ามาจากพฤติกรรมการกิน “อะไรก็ได้”  เร็วๆ เพื่อประหยัดเวลาไปทุ่มเทเพลิดเพลินกับการสอนบัลเล่ต์ตลอดวัน     โชคดีที่ได้มารู้จักตลาดสีเขียว  จึงประจักษ์ด้วยตนเองว่า  ต้องควบคุมอาหารที่กินเข้าไป ... “ที่บ้านเป็นสวนโบราณ อากาศดี  แม้เราจัดการความเครียดได้  แต่ละเลยเรื่องอาหาร...มันไม่ปลอดภัย”    คำถามที่ผุดขึ้นมา  “เราหาเงินไปเพื่ออะไร?”   ทำให้เธอหันกลับมาให้คุณค่ากับสวนที่บ้าน และเริ่มปลูกพืชผักให้แม่และตัวเองกิน   ถึงบัดนี้ ได้ขยายแบ่งขายในตลาดสีเขียว และ ที่บ้านก็ทำเป็นรีสอร์ทให้คนไปพักได้ (จรัลสนิทวงศ์ ซ.๒  ท่าพระ)  แม้เธอจะยังคงทำงานหนัก รวมทั้งไปแข่งขันด้วย ก็ได้แบ่งเวลาให้ตลาดสีเขียว  “เราต้องเปลี่ยนตัวเราเองก่อน...การปลูกกินเอง ทำให้เราเห็น เข้าใจความยากลำบาก   กว่าจะได้กินต้นไม้แต่ละต้น ต้องใช้เวลา  นั่นทำให้เรามีความรู้สึก และสามารถแบ่งทุกข์แบ่งสุขด้วยความเข้าใจกับเกษตรกร”
๒.     คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ  (FB: เมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก ; www.thaicityfarm.com;  FB: สวนผักคนเมือง city farm) หนุ่มสารพัดทักษะ ไม่กลัวงาน ประสบความก้าวหน้าในงานของตนด้วยดี  เกิดฉุกคิดเมื่อสังเกตเห็นว่า ร้านอาหารญี่ปุ่น ไม่ได้หยุดชะงักเมื่อญี่ปุ่นประสบสึนามิ  เพราะเขาสั่งวัสดุจากญี่ปุ่นเพียง 20% นอกนั้นมาจากอัฟริกา   นี่คือความมั่นคงทางอาหาร   ประกอบกับมีลูกที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จึงหันมาสนใจปลูกผักในเมืองเต็มตัว เมื่อกลางปี ๒๕๕๔  (ส่วนภรรยายังคงทำงานเงินเดือนต่อไป)   ด้วยเป็นคนทำจริงจัง ได้เปิดเฟสบุ๊คเพื่อส่งการบ้านและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนปลูกผักในเมือง   ซึ่งนำไปสู่การชักชวนให้ปรุงอาหารจากผักที่ปลูกแล้วนำมา “กินในสวน” ร่วมกัน (ประมาณสิ้นเดือนที่สวนจตุจักร)    สำหรับเขา กิจการปลูกผักในเมืองของเขาสร้างสุข เพราะให้ “อิสรภาพในการทำงาน ...ยืดหยุ่นในการปลูกผัก”   และยังเกิดชุมชน “กินในสวน” ที่มีการแบ่งปัน  เรียนรู้ร่วมกัน  และมีความปรารถนาดีต่อกัน    เขาแยกทัศนคติในการปลูกผักว่ามี ๒ ประเภท (๑) เงินต่อเงิน  หรือ ขายนำ  (๒) ทำกินเอง คือ เหลือจึงขาย    ประเภทหลัง เพราะกินเอง ย่อมไม่ใช้สารเคมี...ซึ่งเป็นหลักของหนุ่มสาวสองคนนี้
วิทยากรสองคนหลัง เล่าถึงกิจกรรมรณรงค์เชิงองค์กร
๓.     คุณสมชาย ขอนดอน  อาจารย์ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครินทร์ (สกพ มรร) - แปดริ้ว (085-086-6178) และ เป็นที่ปรึกษาของ เดวารีสอร์  (www.dhevaresort.com,  ริมแม่น้ำบางปะกง)  กล่าวถึงโครงการห้องเรียนเคลื่อนที่ๆ เขาและทีมงานออกไปตระเวนสอนหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงในภาคตะวันออกตามคำร้องขอ   คุณสมชายเน้นว่า หลักสูตรต่างๆ ของเขาสอนให้ “รู้ว่าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน,  รู้เขา  และรู้สถานการณ์” และแปลงตำราสู่ปฏิบัติการ สร้างโอกาส และวางยุทธศาสตร์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
๔.     คุณเก๋-กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผอ. มูลนิธิชีววิถี (www.biothai.org)  ให้ข้อคิดว่า คนเมือง เมื่อจะซื้อรถ ซื้อมือถือ ... ทุกอย่าง จะศึกษาเปรียบเทียบสเป็ค คุณภาพ ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า อย่างละเอียด    แต่พอมาถึงอาหาร กลับเชื่อโฆษณา หรือ หน้าตาสินค้า และวิ่งตามกระแสง่ายๆ ไม่ค้นคว้าเหมือนซื้อของอย่างอื่น    เธอแสดงความห่วงใยที่ผู้บริโภคไทยเมื่อเทียบกับต่างชาติ เช่น อิตาลี  เป็นประเภท “เชื่อง่าย” ทำให้ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาความรู้ด้านการกินและปรุงอาหาร  รวมทั้งฐานนิเวศทรัพยากรธรรมชาติแห่งความเป็นตะกร้าอาหารโลก  ต้องสึกกร่อนไปอย่างรวดเร็วและน่าตกใจ   ทางมูลนิธิชีววิถี จึงมีโครงการ “กินเปลี่ยนโลก” (www.food4change.in.th) ที่ปลุกผู้บริโภคไทยให้ตื่นตัวต่อพิษภัยในอาหารและการคุกคามความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ด้วยการเริ่มตั้งคำถามต่อกระบวนการผลิตอาหาร  เธอเสนอว่า ผู้บริโภคไทยควรปรับทัศนคติเป็นฝ่ายรุก—ไม่ใช่แค่ตั้งรับ--ในฐานะพลเมืองที่เอาธุระติดตามและตรวจสอบระบอบอาหาร และ กระบวนการผลิต ตั้งแต่เพาะปลูก  กระบวนการแปรรูป และการกระจายสินค้า บริการ

ช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมสานสนทนา

ผู้เข้าร่วมเกือบร้อยกระจายเป็นกลุ่มย่อย “โต๊ะกาแฟ” ตามกรอบ เวิร์ลคาเฟ่  แบ่งปันความคิดเห็นในใจ โดยพูดทีละคน แล้วเพื่อนตั้งใจฟัง สรุปประเด็น   กระบวนกร ได้ซอย หัวข้อใหญ่ “ปัญหาและทางเลือกของผู้บริโภคภายใต้ระบบอาหารที่ไม่เป็นธรรม” เป็น ๓ คำถามย่อย  เมื่อสิ้นเวลาของแต่ละคำถาม  สมาชิกแต่ละโต๊ะ “โบยบิน” กระจายไปโต๊ะอื่น ยกเว้นเจ้าบ้านประจำโต๊ะ เพื่อเล่าให้ผู้มาใหม่ฟังว่า มีประเด็นอะไร เป็นการเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนมาใหม่เล่าข้อมูลของตน

หลังจากกลุ่มย่อย เวิร์ลคาเฟ่  ผู้เข้าร่วมกลับเข้าสู่วงใหญ่ รายงานสิ่งที่เก็บเกี่ยวจากโต๊ะกาแฟ  สุดท้าย วิทยากรให้แต่ละคนได้พูดว่า จะลงมือทำอะไรต่อไป

ตัวอย่างเสียงสะท้อน:

ก.      เก็บเกี่ยวปัญหา:
a.       ความไม่ปลอดภัยในอาหารเพราะ สารเคมีเกษตรตกค้าง   การขนส่งจัดวางไม่ถูกสุขอนามัย/สกปรก   ร้านอาหารไม่ใส่ใจในการล้างวัตถุดิบ เครื่องปรุงให้สะอาดก่อนปรุง (เชื้อโรค)  น้ำมันใช้ซ้ำ (สารก่อมะเร็ง) ฯลฯ
b.      ร้านอาหารตามสั่งใช้เครื่องปรุงรสเกิน  (สารกันบูด ฯลฯ + รสหวานมันเค็มเกิน)  ส่วนอาหารอุตสาหกรรมแปรรูปจนไม่ใช่อาหาร (เหมือนกินโฟมรสจัดจ้าน ที่มีสารสังเคราะห์)  เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคเมือง
c.       บรรษัทใหญ่ๆ ผูกขาดตลาด กดราคาเกษตรกรผู้ผลิต  ในขณะที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง  ตลอดจนจำกัดปริมาณและการเข้าถึงความหลากหลายของสารอาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค

ข.      เก็บเกี่ยวทางเลือก:
a.       ปลูกเอง แต่ก็ยังต้องซื้อเสริมเพื่อความหลากหลาย
b.      ผลักดันให้มีแหล่งรวมและระบายสินค้าอินทรีย์ (เช่น จัดสรรส่วนหนึ่งของพื้นที่ตลาดสี่มุมเมือง) มีกระบวนการคัดกรองมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจสินค้าสีเขียว
c.       ส่งเสริม สนับสนุนกิจการค้ารายย่อย ที่อาศัยต้นทุนทางสังคมและความเชื่อถือส่วนตัว หรือ เครือข่ายตลาดสีเขียว รับซื้อจากเกษตรกรอินทรีย์ ที่เชื่อถือ ตรวจสอบได้ และ จำหน่ายในราคาที่ได้กำไรพอสมควร แต่ไม่แพงเกินไปเพื่อผู้บริโภคทั่วไปจะได้จ่ายไหว
d.      ผู้บริโภคควรเริ่มเกาะกลุ่ม และ เริ่มปฏิบัติการเชิงรุก เช่น คอยเป็นหูเป็นตา ติดตามตรวจสอบให้เกิดความปลอดภัย และ ความมั่นคงทางอาหาร
e.      ผลักดันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีนโยบายสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารในระดับชุมชน และสนับสนุนกิจกรรมเช่นตลาดสีเขียว
ค.      ลงมือทำ (ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นสมาชิกตลาดสีเขียว)
a.       ล้างผักผลไม้ (ที่ซื้อเสริมจากตลาดธรรมดา) ให้ถูกวิธี
b.      รวมตัว (ผู้เข้าร่วม) เป็นชมรม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ (เช่น การผลิต  การตลาด ฯลฯ) และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนให้เกิดความตื่นตัวในสาธารณชน / ผู้บริโภค และ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ตั้งแต่ท้องถิ่น ถึง ชาติ
c.       (ข้อเสนอแนะ)  ผู้บริโภคร่วมลงทุนกับเกษตรกรที่ต้องการผันสู่เกษตรกรรมอินทรีย์ เพราะในช่วงแรกต้องใช้ทุนสูง แต่เมื่อสภาวะของดินเข้าที่ ต้นทุนการผลิตจะลดลงมาก
d.      ทำงานร่วมกับสื่อ  (ซึ่งเป็นช่องทางการศึกษาทางเลือกคู่ขนานกับการศึกษาในระบบ)
ง.       โครงการการสร้างสังคมผู้บริโภคสีเขียว จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากกิจกรรมวันนี้  หัวข้อ “ศิลปะการเลือกในชีวิต” (?) ในวันที่ ๓๑ สค  ผู้สนใจติดตามผ่านเฟสบุ๊คได้ หรือสอบถาม th.greenfair@gmail.com; 02-622-0955, -0956; www.thaigreenmarket.com

คืนนั้น (หลังเที่ยงคืน) ไทยพีบีเอส ได้ออกอากาศสารคดี “2050: เมื่ออาหารหมดโลก” (2050: If Food Runs Out!)  ซึ่งฝรั่งถ่ายทำ แต่มีตัวอย่างหนึ่งจากประเทศไทย คือ ข้าวขวัญ ของ คุณเดชา ที่ถูกนำเสนอว่า อาจเป็นทางออกหนึ่ง ... ก่อนที่จะสายเกินไป...ท่ามกลางความเกรี้ยวกราดยิ่งขึ้นของภาวะโลกร้อน      สารคดีนี้คงมองโลกในแง่ดีว่านักวิทยาศาสตร์ที่  IRRI กำลังขะมักเขม้น “สร้าง” (ไม่ได้ใช้คำ จีเอ็มโอ) สายพันธุ์ข้าวใหม่ จาก ธนาคารสายพันธุ์ข้าวแสนกว่ารายการ    
ดูแล้วอดไม่ได้ที่จะถามว่า จุดยืนของสารคดีชุดนี้ ต่อ จีเอ็มโอ และสิทธิบัตร เป็นอย่างไร?   ปัญหาในอนาคต อาจไม่ใช่แค่การค้นพบสายพันธุ์ที่ยืดหยุ่นต่อสภาวะอากาศแปรปรวน  แต่เมื่อถึงเวลานั้น จะยังมีชาวนารายย่อยจะยังรอดเหลืออยู่ไหมจากระบอบอาหาร/อุตสาหกรรม—ที่มีตลาดค้าหุ้น, ยากที่จะมีสำนึกมนุษยธรรมได้, เป็นพระเจ้า

มีคนบอกว่า ในวิชาบริหารธุรกิจ เขาสอนว่า  “ลูกค้าคือพระเจ้า”   เราผู้บริโภคคงต้องพิจารณาว่า จะเลือกเป็นเล่นบทไหน (ถ้ายังเลือกได้)...เป็นนาย หรือ เป็นทาส... ในวัฎจักรบริโภคนิยม และทุนนิยม+ไร้พรมแดน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น