(ตัดมา)
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ อาเซียน และประชาคมอาเซียน
อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations) คือ องค์กรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และความมั่นคง
อาเซียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) มีสมาชิกแรกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศโดยประเทศสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมได้แก่ บรูไน (7 ม.ค. 2527) เวียดนาม (28 ก.ค. 2538) ลาว พม่า (23 กค 2540) และกัมพูชา (30 เม.ย. 2542)
สงครามเย็น
ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองยุคสงครามเย็น อาเซียนคืออีกกลไกหนึ่งที่ฝ่ายโลกตะวันตกได้ผลักดันให้เกิดขึ้น โดยหวังว่าอาเซียนจะช่วยต้านการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีปฏิวัติโดมิโน่ในภูมิภาคนี้ได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้การสนับสนุนประเทศในอาเซียนโดยไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นจะปกครองด้วยระบอบการเมืองแบบใด จะมีคณะรัฐบาลทหารปกครองโดยเว้นวรรคระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ขอเพียงต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็พอแล้ว
หลังจากที่อาเซียนก่อตั้งได้ไม่นาน การเมืองยุคสงครามเย็นก็มีเหตุต้องพลิกผัน เมื่อจีนเกิดแตกหักกับโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ทำให้อเมริกาเห็นช่องทางสร้างดุลอำนาจสามเส้า ด้วยการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 อันเป็นที่มาของการทูตหมีแพนด้า การทูตปิงปอง การสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม[1] และการหันมาเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและชาติตะวันตกใหม่อีกครั้ง
การหันมาจับมือกันของโลกตะวันตกกับจีน ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจีนประกาศนโยบายเปิดประเทศ และเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ตามมาด้วยโซเวียตรวมทั้งกลุ่มประเทศบริวารทั้งหลายในช่วงทศวรรษที่ 1980 ถือเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของสงครามเย็น และเริ่มเข้าสู่ยุคของการค้าเสรีแทบจะในทันที
เริ่มยุคการค้าเสรี WTO และ AFTA
อันที่จริงแนวคิดเรื่องการค้าเสรีเป็นสิ่งที่กลุ่มโลกตะวันตกและพันธมิตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) และได้จัดประชุมเพื่อเจรจาลดภาษีศุลกากรตลอดจนอุปสรรคทางการค้าทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยเฉพาะในการประชุมครั้งที่ 8 ที่ประเทศอุรุกวัยเมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) นั้น อาจถือได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ เพราะได้เริ่มมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าภาคบริการเช่น การเงิน ธนาคาร และการประกันภัย รวมทั้งยังได้เริ่มเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสาธารณะสุข (สิทธิบัตรยา) และความมั่นคงทางอาหาร (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) ของประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วมเป็นภาคีสัญญา
นอกจากนี้ยังได้มีมติให้ตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อทำหน้าที่แทน GATT โดย WTO มีฐานะเป็นองค์กรนิติบุคคลระหว่างประเทศ ส่วนประเทศภาคีสัญญา GATT เดิมต้องสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO โดยมีพันธะกรณีต้องปฏิบัติตามทุกข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการประชุมรอบอุรุกวัย และ WTO มีอำนาจบังคับหรือลงโทษสมาชิกที่ละเมิดข้อตกลงได้
การที่ข้อตกลงเรื่อง TRIPS เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์อย่างรุนแรงว่า WTO ออกใบอนุญาต “ปล้น” ทรัพยากรของสมาชิกประเทศยากจน ทำให้ประเทศยากจนต้องพึ่งพิงประเทศร่ำรวยแทบจะโดยเบ็ดเสร็จ คล้ายเป็นการออกล่าอาณานิคมยุคใหม่ นอกจากนี้ก็มีข้อวิจารณ์รุนแรงต่อกลุ่มประเทศร่ำรวยและ WTO ว่าไม่มีทางสร้างสิ่งที่เรียกว่าการค้าเสรีได้จริง เพราะประเทศร่ำรวยยังคงหาทางเจรจาเพื่อกำหนดทิศทางตลาดได้ รวมทั้งยังคงออกมาตรการกดดันหรือปกป้องตลาดของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการบิดเบือนหลักการสูงสุดของการค้าเสรีเรื่องการค้าที่เป็นธรรมและโอกาสที่เท่าเทียมของคู่ค้า กระแสต่อต้านการค้าเสรีจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง[2] ทำให้การเจรจารอบนี้ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีกว่าที่จะตกลงกันได้ ซึ่งก็เป็นแค่เพียงบางเรื่องเท่านั้น ทำให้สมาชิกหลายประเทศที่ยังคงต้องการเดินหน้าสู่การเปิดการค้าเสรีหันมาใช้วิธีการเจรจาแบบทวิภาคี และการจับกลุ่มเปิดตลาดเสรีในภูมิภาคแทน เช่น เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)
แม้จะรู้ว่าระบบการค้าเสรีภายใต้ WTO มีความเสี่ยงเพียงใด แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกอะไรให้กับประเทศกำลังพัฒนามากนัก เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียน ที่สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจสร้างเขตการค้าเสรีภูมิภาคอาเซียน (AFTA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรอง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และเพื่อส่งเสริมการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีปริมาณมากขึ้น โดยหวังว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะสร้างความมั่งคั่งให้กับภูมิภาคได้[3]
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการจัดตั้ง AFTA เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนก็เติบโตขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ทว่าความอัศจรรย์นี้ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความหายนะในเวลาเพียงแค่ 5 ปี
ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) วิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่เริ่มต้นจากประเทศไทยได้ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว และได้แพร่ระบาดต่อไปยังระบบเศรษฐกิจของเอเชียและของโลกในท้ายที่สุด ผู้นำประเทศตลอดจนนักวิเคราะห์ทั้งหลายเริ่มตระหนักอย่างแท้จริงว่า การเปิดเสรีทางการเงินสามารถช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างหายนะทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน[4] ดังนั้นจึงมีคำถามว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรจะปฏิเสธการพัฒนาแบบเสรีนิยมเช่นการเปิดตลาดการค้าเสรี หรือควรจะเดินต่อไปด้วยความรอบคอบและสุขุมกว่าเดิม?
กลางเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2540 บรรดาผู้นำอาเซียนได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว สุดท้ายแล้วอาเซียนก็ได้ตัดสินใจที่จะเดินตามเส้นทางพัฒนาสายเสรีนิยมต่อไป ทั้งนี้เพราะอาเซียนเห็นว่า ทางเดียวที่จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนก็คือ การลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค และการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นเพื่อจะดึงดูดการลงทุนได้นั้น มีทางเดียวก็คือจะต้องรวมตลาดและขยายตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การถอยกลับไปสู่แนวคิดโบราณที่สร้างกำแพงกั้นตลาดของแต่ละประเทศแยกจากกัน ซึ่งมีแต่จะเป็นการลดเพดานการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไปด้วย[5]
นอกจากจะยืนยันว่าอาเซียนจะเดินไปตามเส้นทางพัฒนาสายเดิมต่อไปแล้ว บรรดาผู้นำอาเซียนยังเห็นร่วมกันว่า อาเซียนจำเป็นต้องเดินให้เร็วและรวมตัวกันให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2563 (ASEAN vision 2020) อันนำไปสู่การจัดตั้งสามเสาประชาคมอาเซียนในที่สุด
จาก ASEAN Vision 2020 สู่สามเสาประชาคมอาเซียน
เอกสารวิสัยทัศน์อาเซียนซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 ได้จินตนาการถึงอาเซียนในปี พ.ศ. 2563 ไว้อย่างน่าประทับใจว่า “อาเซียนจะต้องเป็นเสมือนวงสมานฉันท์ของบรรดาประเทศสมาชิก ที่มุ่งปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีเสถียรภาพ มีความมั่งคั่ง ตลอดจนร่วมกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัตร เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมที่ดูแลห่วงใยกันและกัน”[6]
หากเราพักเรื่องความประทับใจไว้ แล้วลองพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า เอกสารวิสัยทัศน์อาเซียนให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ ความมั่นคง-เสถียรภาพของภูมิภาค เรื่องความมั่งคั่ง และเรื่องการสร้างสังคมที่ดูแลห่วงใยกัน (caring societies) เหตุที่อาเซียนมองว่าในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับสามเรื่องดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี พ.ศ. 2540 อาเซียนไม่ได้เผชิญแค่วิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมควันไฟป่าจากกาลิมันตันและสุมาตรา รวมทั้งเรื่องปัญหาวิกฤติการเมืองในประเทศกัมพูชาที่ทำท่าว่าจะลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศไปด้วย[7]
นอกจากนี้ อาเซียนได้ตระหนักแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นปัญหาระดับภูมิภาคมากขึ้นทุกที ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะรวมตัวกันอย่างหลวมๆ หรือไม่เป็นทางการเช่นที่ผ่านมาได้อีกต่อไป อาเซียนจำเป็นต้องรวมตัวกันอย่างจริงจังโดยให้ความสำคัญกับมิติทั้ง 3 อย่างเต็มที่ คือ
ในมิติความมั่นคง อาเซียนมองว่าจำเป็นต้องหาวิธีจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ในมิติของความมั่งคั่ง อาเซียนเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ด้วยการเร่งกระบวนการเปิดเสรีการค้า และมุ่งสู่ระบบการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563[8] ในมิติของการสร้างสังคมที่ห่วงใยกัน อาเซียนเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างให้คนในอาเซียนเกิดสำนึกถึงอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การสร้างสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน และสร้างให้เกิดสำนึกความห่วงใยช่วยเหลือกันมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนอาเซียนมีความพร้อมรับมือกับปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา การเปิดเสรีการค้า และโลกาภิวัฒน์
3 มิติหลักที่วิสัยทัศน์อาเซียนให้ความสำคัญได้พัฒนาไปสู่แนวคิด 3 เสาประชาคมอาเซียน ส่วนเรื่องการสร้างชุมชนอาเซียนให้มีความร่วมมืออย่างจริงจังก็ได้พัฒนาไปสู่การเขียนกฎบัตรอาเซียน เพื่อสร้างธรรมนูญหรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนสร้างองค์กรอาเซียนที่มีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคลระหว่างประเทศอย่างแท้จริง
หลังจากการประกาศวิสัยทัศน์อาเซียน 2563 กระบวนการสร้างชุมชนอาเซียนใหม่ก็มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันลงนามในเอกสารประวัติศาสตร์ที่เรียกกันต่อมาว่า “ปฏิญญาบาหลีฉบับที่สอง” (Bali Concord II) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 3 เสาสำคัญได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563
จากนั้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2550 ได้มีการประกาศเลื่อนเป้าหมายการรวมตัวให้เร็วเข้ามาอีก 5 ปีเป็น พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) และในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนก็ได้ร่วมลงนามในเอกสาร “Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015″[9] ซึ่งเป็นการรวมพิมพ์เขียวหรือแผนงานการสร้างสร้างประชาคมทั้ง 3 เสาไว้ด้วยกัน กล่าวได้ว่าเป็นเอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับทั้งสามเสาประชาคมมากที่สุดชิ้นหนึ่ง โดยสรุปแล้ว สามเสาประชาคมมีสาระสังเขปดังนี้
ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีเสถียรภาพและสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามทางการทหารและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งเสริมให้อาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลก ตลอดจนริเริ่มแนวทางในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค[10]
ประชาคมเศรษฐกิจ
มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียวที่สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และเพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ในการเข้าสู่กระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น[11]
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม[12]
เป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม พร้อมรับมือกับผลกระทบอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสำนึกความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และมีสำนึกร่วมในอัตลักษณ์ของภูมิภาค เพื่อสร้างให้เกิดสำนึกการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การสร้างให้ประชาคมอาเซียนเป็นสังคมแห่งความห่วงใยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีแผนงานที่สำคัญดังนี้
1) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศให้มากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนเสริมทักษะในการเป็นผู้ประกอบการให้มากขึ้น
2) ส่งเสริมสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการยกระดับความเป็นอยู่ให้พ้นจากความยากจน เสริมสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาและการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร พัฒนาระบบสาธารณสุขและเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ต่อต้านยาเสพติด และให้อาเซียนเป็นสังคมที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้
3) ส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม ด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิตลอดจนสวัสดิการของประชาชนและแรงงานอพยพ
4) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการและการป้องกันปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมข้ามแดน เช่น มลพิษหมอกควันข้ามแดน มลพิษจากของเสียที่มีพิษข้ามแดน ฯลฯ
5) การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนเกิดสำนึกร่วมในเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย ส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกันทั้งในด้าน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนา ส่งเสริมให้เกิดสำนึกร่วมในความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และสินค้าวัฒนธรรมของอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของประวัติศาสตร์สมาคมอาเซียนก็คือ อาเซียนไม่เคยมีสถานะทางกฎหมาย หมายความว่าอาเซียนไม่ได้มีตัวตนอย่างแท้จริง การประชุมสุดยอดผู้นำ ตลอดจนการติดต่อประสานงาน และการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด ล้วนเป็นไปอย่าง “ไม่เป็นทางการ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศสมาชิกอาจจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงใดๆ ที่ทำไว้กับสมาคมอาเซียนก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย โดยที่สมาคมอาเซียนก็ไม่มีอำนาจและไม่มีกลไกอะไรไปบังคับประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามได้[13]
แม้ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวจะช่วยประคองสมาคมอาเซียนให้ผ่านภาวะวิกฤติในอดีตมาได้ แต่นับวันก็ยิ่งกลายเป็นข้อจำกัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาเซียนจึงตัดสินใจปฏิรูปตัวเองครั้งใหญ่ด้วยการเขียนกฎบัตรอาเซียน ซึ่งมีผลให้ อาเซียนยกฐานะขึ้นเป็นองค์กรนิติบุคคล มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน มีผู้แทนถาวรประจำอาเซียน และมีธรรมนูญหรือกฎหมายข้อบังคับ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรม[14]
อาเซียนเริ่มต้นกระบวนการเขียนกฎบัตรฯ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 10 พ.ศ. 2547 (2004)ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 พ.ศ. 2550 (2007) ที่เมืองเซบูประเทศฟิลิปปินส์ อาเซียนได้เริ่มดำเนินการยกร่างกฎบัตรอาเซียน และประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 (2008) เป็นต้นมา
กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วยข้อบท 13 บท 55 ข้อ โดยมีส่วนที่ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การระบุให้มีการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน และระบุให้องค์กรอาเซียนต้องมี ปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้นด้วย
ข้อวิจารณ์หลักต่ออาเซียน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาเซียนมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นองค์กรเสือกระดาษ บ้างก็วิจารณ์ว่าอาเซียนทำงานแบบ Lip service คือ การเจรจากับการปฏิบัติมักไม่สอดคล้องกัน แต่กระนั้นอาเซียนก็ยังคงประสานสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิกไว้ได้อย่างดี และหากจะให้ความเป็นธรรมกับอาเซียนบ้าง เราคงต้องยอมรับว่าแม้จะมีอุปสรรคและขีดจำกัดมากเพียงใด แต่อาเซียนก็ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานมาตลอดจนถึงปัจจุบันเช่นกัน
ดังนั้นแทนที่จะวิจารณ์ตามธรรมเนียมข้อเขียนวิชาการ ในที่นี้จึงเปลี่ยนเป็นการหยิบยกข้อวิจารณ์ที่อาจสะท้อนถึงข้อจำกัดหรือเพดานที่กดให้อาเซียนเดินไปได้อย่างเชื่องช้า เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ไปให้ได้ โดยขอยกตัวอย่างที่สำคัญสองเรื่อง
เต็มไปด้วยคำนามธรรมอุดมคติ
ในเอกสาร Roadmap เราจะพบว่ามีการกล่าวถึงคำใหญ่ที่เป็นแนวคิดอุดมคติมากมาย เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ขันติธรรม ความอดทนอดกลั้น การเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ โดยเฉพาะในกฎบัตรอาเซียนที่มักถูกอ้างถึงอยู่เสมอว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ เพราะได้มีการระบุให้ต้องจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
แต่นี่ก็ดูจะเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง เพราะแนวคิดที่ถูกอ้างถึงเหล่านี้ล้วนเป็นค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งดูจะไม่ลงรอยนักกับวิถีการเมืองและโลกทัศน์ประชาธิปไตยในแบบอาเซียน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างไปจากค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบสังคมยุโรปตะวันตกค่อนข้างมาก[15] และหลายเรื่องก็ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงด้วย เช่น บทบาทและสิทธิของสตรีที่ยังแตกต่างในประเทศอาเซียน รวมทั้งค่านิยมทางการปกครองและโลกทัศน์เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คน เป็นต้น
ดังนั้นการที่อาเซียนแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 10 คนเพื่อร่างกฎบัตรฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนถึงกว่า 500 ล้านคน จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายโดยปราศจากเสียงท้วงติงจากเหล่าผู้นำอาเซียนหรือผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด[16] นอกจากนี้การที่ผู้คนทั่วไปแทบจะไม่รู้จักว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร กำลังจะทำอะไร หรือรวมตัวแล้วจะส่งผลดีหรือเสียอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบได้อย่างดีว่า ประชาคมอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงหรือไม่ หรือการตั้งเป้าหมายให้ประชาคมอาเซียนเป็นสังคมที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ด้วยความแตกต่างหลากหลายอย่างลึกซึ้งของผู้คนในอาเซียนจะนำไปสู่การยอมรับร่วมกันในค่านิยมใหม่นี้ได้เพียงใด
ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดีไปเอง
ในเอกสารแนะนำประชาคมอาเซียนที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปนั้น มักอธิบายว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและการรวมตลาดอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่ จะทำให้อาเซียนมีความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาคได้[17] กล่าวอีกนัยก็คือ ถ้าเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะมีกินมีใช้ไปเอง
ทว่าคำอธิบายแบบนี้ชวนให้นึกถึงภาพของ คนต้นน้ำที่กั้นฝายไว้ใช้ในยามแล้งแล้วก็บอกคนปลายน้ำว่า ถ้าน้ำมากก็จะล้นไหลไปเอง เมื่อนึกถึงภาพนี้ก็ชวนให้เกิดคำถามว่า อาเซียนเองไม่เคยพูดถึงการกระจายความมั่งคั่งเลย หรือเพราะอาเซียนเกรงว่าจะกลายเป็นการแทรกแซงระบบตลาดซึ่งขัดกับหลักปรัชญาการค้าเสรี หรือที่จริงแล้วประชาชนอาจยังไม่ใช่ศูนย์กลางของอาเซียนในจินตนาการเรื่องเศรษฐกิจ[18]
บทส่งท้าย
แม้ในปัจจุบันกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มภาคประชาสังคมได้ร่วมกันติดตามและนำเสนอข้อวิจารณ์ มากมาย ทำให้เราเห็นถึงปัญหาน่าวิตกหลายประการของอาเซียนและแผนงานการสร้างประชาคมอาเซียน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่าสังคมทุกฝ่ายก็มีความคาดหวังต่อองค์กรนี้สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การที่อาเซียนซึ่งเคยเป็นอดีตเวทีปิดเฉพาะชนชั้นนำ บัดนี้ได้เริ่มเปิดให้ “คนอื่น” ได้เข้าร่วมสื่อสารแลกเปลี่ยนมากขึ้น เช่น เริ่มมีการทำงานกับกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งแม้จะยังไม่มากแต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ รวมทั้งความกระตือรือร้นขององค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมต่างๆ ในการเฝ้าจับตาดูการทำงานของอาเซียนอย่างใกล้ชิด นี่ก็เป็นอีกดัชนีที่บอกถึงความตื่นตัวของผู้คนที่มีต่ออาเซียน ซึ่งหากมองในแง่นี้ก็ดูจะเป็นสัญญาณด้านบวกต่อทั้งองค์กรอาเซียน กลุ่มผู้วิจารณ์ และโดยเฉพาะต่อสังคมในภูมิภาคนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ประชาคมอาเซียน ในความหมายที่เน้นความสำคัญของ “ประชาคม” คงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ เพียงแค่การมีกฎบัตรอาเซียน มีวิสัยทัศน์อาเซียน มีแผนงานที่รัดกุม หรือมี NGOs ที่เข้มแข็งเท่านั้น หาก “ประชาคม” ที่มีคนเป็นศูนย์กลาง น่าจะมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือประชาชนในภูมิภาค ที่คิดและเชื่อมั่นในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ การสร้างสรรค์ของตัวเอง และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งและหาหนทางไปสู่ “ประชาคม” ที่เป็นความหวังของสามัญชนได้ในที่สุด
รายการอ้างอิง
1. C.M. Turnbull, “Regionalism and NAtionalism,” in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two, Part Two, edited by Nicholas Tarling, Cambridge : Cambridge University Press, 1999, pp 290-291.
2. ดูเพิ่มเติมข้อวิจารณ์ WTO และ TRIPs ที่ http://www.gpo.or.th/rdi/html/TRIPS_agreement.html และ http://www.ftawatch.org/all/editor/18143
3. โปรดดู กระทรวงต่างประเทศ, กรมอาเซียน, มารู้จักอาเซียนกันเถอะ, กรุงเทพ : กระทรวงฯ, 2551, น. 7, 9-10, 32-33. และ กระทรวงต่างประเทศ, กรมอาเซียน, บันทึกการเดินทางอาเซียน, กรุงเทพ : กระทรวงฯ, 2552, น. 10-11.
4. โปรดดู H.E. Rodolfo C Severino, Jr., Secretary-General of ASEAN, ” ASEAN Vision 2020: Challenges and Prospects in the New Millennium,” at the Eighth Southeast Asia Forum, Kuala Lumpur, 15 March 1998. ที่ http://www.asean.org/3424.htm
5. โปรดดู ” ASEAN Vision 2020: Challenges and Prospects in the New Millennium”
6. โปรดดูเอกสาร ASEAN Vision 2020 ที่ http://www.asean.org/1814.htm
7. โปรดดู ” ASEAN Vision 2020: Challenges and Prospects in the New Millennium”
8. โปรดดูเอกสาร ASEAN Vision 2020
9. โปรดดูเอกสาร “Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015″ ที่ http://www.asean.org/publications/RoadmapASEANCommunity.pdf
10. โปรดดูเอกสาร “แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน” ที่ http://www.mfa.go.th/asean/asean_web/media/Social_plan.pdf
11. โปรดดู “เอกสารสรุปสาระสังเขปประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ http://www.mfa.go.th/internet/document/740.doc
12. โปรดดูเอกสารแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่ http://www.mfa.go.th/asean/asean_web/media/ASEAN.pdf
13. โปรดดู มารู้จักอาเซียนกันเถอะ, น. 4. และ บันทึกการเดินทางอาเซียน, น. 31.
14. การสร้างประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรฯ นี้ ไม่ได้ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรเหนือรัฐเหมือนสหภาพยุโรป และไม่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตย; โปรดดูเอกสาร “ท่านเคยทราบเกี่ยวกับอาเซียนและกฎบัตรอาเซียนหรือไม่?” ที่ http://www.mfa.go.th/internet/document/3782.doc หรือดูกฎบัตรอาเซียน ที่ http://aseansummit.mfa.go.th/15/thai/PDF/ASEAN_Charter_TH+EN.pdf
15. ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตยเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์และผู้คนที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยปี กว่าที่สังคมยุโรปจะพอรับประชาธิปไตยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้จริง แต่กระนั้นยุโรปเองก็ใช่ว่าจะยอมรับประชาธิปไตยทุกฝ่าย เพราะอย่างน้อยกระแสฝ่ายขวาที่กำลังขึ้นสูงในยุโรปตอนนี้ ก็ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าประชาธิปไตยนัก
16. โปรดดูบทความ “เปิดร่างกฎบัตรอาเซียน (ที่ร่างกัน 10 คนจาก 10 ประเทศอาเซียน)” ที่ http://prachatai.com/journal/2007/11/14763
17. โปรดดู มารู้จักอาเซียนกันเถอะ, น. 7, 9-10, 32-33. และ บันทึกการเดินทางอาเซียน, น. 10-11.
18. จินตนาการทางเศรษฐกิจแบบนี้จึงมักถูกโจมตีจากฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัฒน์ด้วยข้อหาอมตะว่า เป็นระบบทุนนิยมและส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคนิยม โดยเฉพาะกลุ่มต้านทุนนิยมสุดขั้วถึงกับอธิบายว่า ทุนนิยมทำให้ชนบทสูญเสียความบริสุทธิ์ ทำให้คนเห็นแก่ตัว ทำให้สังคมเสื่อมสลาย ฯลฯ คนกลุ่มนี้จึงมักมีอาการเหวี่ยงกลับ เช่น มักเสนอให้ปฏิเสธทุนนิยมทั้งระบบและกลับสู่สังคมชาวนา หรือรูปแบบสังคมที่เน้นการพึ่งพาตัวเอง อย่างไรก็ดีทางเลือกเหล่านี้ก็ไม่ปรากฎคำถามเรื่องการกระจายความมั่งคั่งเช่นกัน ที่สำคัญคือ การกลับสู่สังคมชาวนา หรือสังคมที่เน้นการพึ่งพา ก็เป็นคนละเรื่องกับการสร้างสังคมให้แข็งแกร่งบนพื้นฐานค่านิยมประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ข้อวิจารณ์ ตลอดจนแนวพัฒนาทางเลือกเหล่านี้มุ่งตอบโจทย์ความต้องการทางจินตนาการแบบชนชั้นกลาง หรือมุ่งตอบโจทย์ปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ กันแน่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น